หากจะพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา คงต้องยอมรับกันว่า เศรษฐกิจค่อนข้างมีความผันผวนพอสมควร ด้วยสภาวะปัจจัยจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ เริ่มตั้งแต่สหรัฐอเมริกา เรื่องการจะปรับลดเม็ดเงินในมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ส่งผลให้ตลาดหุ้น ราคาทองคำ ราคาพันธบัตร มีความผันผวนตามไปด้วย ในส่วนของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียอย่างประเทศจีน ซึ่งมีการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน มีการปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นยังคงมีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป โดยจะเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราการจ้างงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านเศรษฐกิจของไทย เผชิญกับความท้าทายจากความไม่แน่นอน ทั้งปัญหาทางด้านการเมือง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ภาระหนี้สิ้นภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อลดลง อัตราการขยายตัวภาคการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งค่าเงินที่มีความผันผวน และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หากมองโดยรวมแล้วอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ค่อนข้างเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากปัจจัยที่ได้กล่าวมา ที่ส่งผลกระทบต่อกัน ด้วยความผันผวนของปัจจัยเหล่านี้ ทำให้นักลงทุน อาจมีความกังวลต่อการลงทุนหรือแผนทางการเงินที่ได้วางไว้
พิจารณาถึงทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2557 กันดูบ้าง ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ในส่วนของประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 4.5– 5.0%การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองของไทย หากมองจากปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2557น่าจะมาจาก
1. ปัญหาทางด้านการเมือง การชุมนุม เสถียรภาพของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารต่อในปี 2557ซึ่งอาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นทางด้านการลงทุน
2. ปัญหาภาระหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยที่มีอัตราสูงขึ้นจากปี 2556 ซึ่งอาจทำให้สถาบันการเงินต่างๆ มีการเข้มงวดมากขึ้นสำหรับการปล่อยสินเชื่อ
3.ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวภาคการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภาคส่งออกจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2557
4.ค่าเงินบาท คาดการณ์ว่าอัตราค่าเงินบาท น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้
5. สถานการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่จะยังคงมีความผันผวนอยู่พอสมควร
6. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงินมหาศาลของภาครัฐในโครงการ 2 ล้านล้านบาท ที่ชะลอหรืออาจเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านการเมือง
7. ราคาของพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่ง ต้นทุนการผลิตที่อาจจะสูงขึ้น ทำให้อัตราค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
8. อัตราดอกเบี้ย ที่มีการคาดการณ์ว่าน่าจะทรงตัวเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2.5%แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันอีกครั้งขณะที่
9. อัตราเงินเฟ้ออาจมีโอกาสปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
10. การขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ