วิกฤติเศรษฐกิจต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนในเรื่องของตลาด

นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้มีการเลิกจ้างงาน ผู้ประกอบการปิดกิจการ ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐมีความจำเป็นต้องเข้ามาดูแลความมั่นคงของทุนของผู้ประกอบการของสถาบันการเงินเพื่อหยุดยั้งประชาชนที่ทยอยถอนเงินฝากออกจากสถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นจำนวนมากส่งผลกระทบกับหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการลงทุนภายในประเทศของผู้ลงทุน

ในช่วงแรกของการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจภาครัฐต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนในเรื่องของตลาด ได้แก่ ตลาดการเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการลงทุนของภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยรัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องสำคัญๆ 7 เรื่อง เพื่อสร้างเสถียรภาพแก่ระบบเศรษฐกิจคือ

1. อัตราเงินเฟ้อ

2. อัตราดอกเบี้ย

3. เงินไหลออก

4. ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ

5. เสถียรภาพของสถาบันการเงิน

6. ปัญหาทางสังคม

7. นโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

นอกจากนี้รัฐได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจได้แก่

1. การดำเนินนโยบายการคลังด้วยวิธีการขาดดุลการคลังในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อรองรับการหดตัวทางเศรษฐกิจ

2. ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินคือ การทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินนิ่ง มีสภาพคล่องทางการเงิน และอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

3. ฟื้นฟูสถาบันการเงินให้มีความความเข้มแข็งและมั่นคง

4. กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือปัญหาทางสังคมคือ รัฐเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโดยใช้ระบบความปลอดภัยทางสังคม( social safety net) เพื่อรองรับและให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีการอยู่ดีกินดีและช่วยเหลือตนเองได้

สำหรับปัจจัยที่แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวที่สำคัญได้แก่

1. การจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ ควรมีมาก

2. การอุปโภค บริโภคของประชาชนและภาครัฐ ควรมีมาก

3. การมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีเป็นการแสดงถึงความสามารถในการหาเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ

4. มีการขยายการลงทุนของภาคเอกชนทำให้มีการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ ภาครัฐจึงต้องส่งเสริมและสร้างบรรยากาศการลงทุนเชิญชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนภายในประเทศ เพื่อประเทศไทยจะได้เข้าสู่จุดสมบูรณ์มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ประชาชนไม่อยากให้ประเทศไทยเข้าสู่จุดวิกฤติเศรษฐกิจอีก ดังนั้นภาครัฐต้องกำหนดนโยบายการเงิน การลงทุน และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อสร้างระบบการเงินของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีเสถียรภาพ เทียบเท่าและแข่งขันกับระบบการเงินของโลกได้ อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงพัฒนาแผนพัฒนาระบบการเงินและแผนพัฒนาตลาดทุน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนโยบายการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต