แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2558

เศรษฐกิจไทยในปี 2557 เติบโตได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งจากผลกระทบของการส่งออกที่ชะลอตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกน่าปรับตัวได้ดีขึ้นในปีหน้า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคหลักๆ รวมถึงการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ซึ่งจะผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ให้สามารถเติบโตได้ดีกว่าปี 2557 ประกอบกับปัจจัยบวกจากเม็ดเงินในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในปี 2558 – 2565 ที่มีวงเงินรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท รวมถึงแผนเร่งด่วนในปี 2558 กว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ดี

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย แม้จะมีการปรับฐานลงมาบ้างตามตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงเดือนธันวาคม จากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่มองว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้น เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในประเทศ ทั้งแผนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน และความมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งมาตรการภาครัฐจะช่วยเอื้อบริษัทจดทะเบียนในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ภาคการก่อสร้าง ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาคธนาคารที่จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีในปีหน้า อย่างไรก็ดี หุ่นในกลุ่มพลังงานยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ทองคำ
สำหรับแนวโน้มในปีหน้า ทองคำยังดูไม่สดใสนัก เนื่องจากการหยุดดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และกดดันราคาทองคำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคส่วนใหญ่ทั่วโลก ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และไม่ได้สนับสนุนการปรับขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี แม้ในภาพรวมจะยังไม่เห็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าราคาทองคำก็จะยังคงมีการเคลื่อนไหวในกรอบตามทิศทางข่าวสารเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนยังคงสามารถทำกำไรซื้อขายได้ตามรอบ โดยมองกรอบราคาทองคำในปี 2558 ที่ระดับ 1,150 – 1,250 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

น้ำมัน
แม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในภาพรวมปี 2558 จะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ แต่เศรษฐกิจของบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ยังคงมีความเสี่ยง ขณะที่เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก็คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปีปัจจุบัน ทำให้แนวโน้มความต้องการน้ำมัน ไม่น่าจะปรับขึ้นสูงมากนัก สอดคล้องกับการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกลง 230,000 บาร์เรลต่อวัน หรือลดลงกว่า 20% ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค รวมถึงสหรัฐอเมริกาเอง ก็สามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้น ดังนั้น หากกลุ่มโอเปคยังคงรักษากำลังการผลิตที่ระดับเดิม โดยไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงใดๆ อาจจะส่งผลให้อุปทานส่วนเกินในโลกมีมากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะกดดันราคาน้ำมันให้ยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในปี 2558