ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง (หดตัวร้อยละ -0.1) ต่อเนื่องจากปลายปี 2557 จากความเสี่ยงที่มาจากปัญหาการเมืองในช่วงไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยจะเริ่มจากการบริโภคภาคเอกชนที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 ส่วนการลงทุนจะเริ่มฟื้นตัวช้ากว่าคือไตรมาสที่ 4 ทำให้ทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยการฟื้นตัวที่ช้านี้มาจากการส่งออกที่คาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2557 กลับปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้เศรษฐกิจในปี 2557 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ช่วงมิถุนายนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3
คาดว่าในปี 2558 การส่งออกน่าจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ทำให้ในปี 2558 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวร้อยละ 5.4 ได้ โดยการปรับตัวที่สูงของการบริโภคและการลงทุนในประเทศทั้งโดยภาคเอกชนและรัฐบาลจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการฟื้นตัวในปี 2558 เช่นเดียวกับการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นแต่การนำเข้าก็จะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน และปรับตัวในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของการส่งออกทำให้มูลค่าการค้าสุทธิไม่ได้ช่วยเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจเท่ากับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวในอัตราที่สูงเนื่องจากเป็นการปรับตัวให้เข้าสู่ระดับดุลยภาพชดเชยที่ชะลอตัวในปี 2557
ปี 2557 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 และ 1.5 ตามลำดับซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพราะราคาน้ำมันในปีนี้มีการปรับตัวขึ้นไม่มากทำให้ดัชนีราคาพลังงานน่าจะปรับตัวขึ้นร้อยละ 3.6 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2553-2556 ซึ่งดัชนีราคาพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 โดยเฉลี่ย ดังนั้นคาดว่าในปี 2557 ปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพเงินเฟ้อจะไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับทรงตัวทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นราคาพลังงานในประเทศเช่นLPG, NGV เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาในภาพรวมที่น้อยเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2558 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ2.6และ1.8ตามลำดับซึ่งแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ