กระแสการตื่นตัวเรื่องการปฏิรูป โดยเฉพาะการตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจและสังคม เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่ต้องทำร่วมกัน ตั้งแต่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน และภาครัฐ โดยจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งกระบวนการปรับตัวเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งขึ้นได้ ได้กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ และแผนงานให้สอดรับกับการปรับตัวที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจผ่านบทบาทหน้าที่ด้านพัฒนาการ หรือจะกล่าวก็คือ การดูแลให้ภาคการเงินสนับสนุนศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชนและกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง
1.ด้านประสิทธิภาพ สถาบันการเงินสามารถทำหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบทบาทในการสนับสนุนธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางจนถึงขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการยกระดับศักยภาพของประเทศไทย ในรูปของการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมทั้งระบบ E-payment ที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำและมั่นคงปลอดภัย
2.ด้านความสามารถในการแข่งขัน ระบบสถาบันการเงินมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และแข่งขันอย่างเหมาะสม โดยการยกระดับผู้เล่นเดิม และเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
3.ด้านเสถียรภาพ สถาบันการเงินมีความมั่นคง ได้รับการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และสามารถรักษามาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่ ธปท. จะมีการเพิ่มศักยภาพในการสอดส่องดูแลเสถียรภาพระบบการเงินอย่างต่อเนื่องให้พร้อมรองรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
4.ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานควบคู่กับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบนั้น จะร่วมมือกับสถาบันการเงินส่งเสริมบริการทางการเงินที่ทั่วถึง มีคุณภาพที่ดี และต้นทุนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในขณะเดียวกันจะร่วมบูรณาการ และส่งเสริมการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงิน ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)
5. จะวางภูมิทัศน์ของระบบการเงินให้ตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรองรับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการเงินกับต่างประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้มีศักยภาพรองรับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Common Vision)และเอื้อให้ระบบการเงินมีการปรับตัวอย่างสอดคล้อง ขณะเดียวกัน ธปท. ก็จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน(Constructive Engagement)เพื่อผนึกกำลังในการขับเคลื่อนอย่างสอดประสาน (Synergy)อันจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของไทยต่อไป
เศรษฐกิจไทยในปี 57 โดยคาดว่าการส่งออกจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงขึ้นอยู่กับความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองไทย หากปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อจะส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนเพิ่มเติมและทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งทำให้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐล่าช้าออกไปด้วย
ด้านแรงกดดันเงินเฟ้อในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยในปี 57 เงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 56 ตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่โน้มสูงขึ้นจากการทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปได้มากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นมีแนวโน้มทรงตัวตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มลดลง